ถ้าพูดถึงเครื่องดื่มเย็น ๆ หรือรสชาติของขนมที่ใครก็ต้องรู้จัก คงจะหนีไม่พ้น ‘ช็อกโกแลต’ ผลิตภัณฑ์จากเมล็ดโกโก้ ที่เรียกได้ว่าเป็นพี่น้องกับ ‘โกโก้’ ที่เรารู้จักเลยล่ะค่ะ
ปัจจุบัน ช็อกโกแลตเป็นสิ่งที่หาง่าย และฮอตฮิตแบบสุด ๆ ไม่ว่าจะเป็นขนม เค้ก หรือเครื่องดื่ม ก็จะมีรสชาติของช็อกโกแลตผสมอยู่ แต่ทุกคนทราบไหมคะ ว่าในช่วงศตวรรษที่ 16 ช็อกโกแลตนั้นเรียกได้ว่าเป็นแรร์ไอเท็มเลยค่ะ เพราะมีอยู่แค่ในเมโสอเมริกา แถมรสชาติและหน้าตาของมันก็ยังไม่เหมือนกับช็อกโกแลตในปัจจุบันอีกด้วย
จุดเริ่มต้นของ ‘ช็อกโกแลต’
ย้อนกลับไป 1900 ปีก่อนคริสตกาล ผู้คนในแถบนั้นเริ่มเรียนรู้การเตรียมผลของ ‘ต้นกาเกา’ หรือโกโก้ที่เรารู้จัก ซึ่งเป็นพืชพื้นเมือง โดยนำเมล็ดมาบด และนำมาผสมกับคอร์นมีล (Corn meal) และพริก เพื่อทำเป็นเครื่องดื่มที่มีรสชาติขม และมีฟอง เมื่อดื่มแล้วจะทำให้รู้สึกตื่นตัว ถ้าให้เปรียบเทียบก็น่าจะเหมือนเครื่องดื่มชูกำลังในปัจจุบันเนี่ยล่ะค่ะ
ชาวเมโสอเมริกัน เชื่อว่าผลโกโก้นั้นเป็นอาหารจากสวรรค์ ที่เทพเจ้ามอบให้เป็นของขวัญแก่มนุษย์ นอกจากนี้ชาวแอซเต็กยังใช้เมล็ดโกโก้แทนเงิน และดื่มช็อกโกแลตในงานเลี้ยงรื่นเริงในวัง รวมถึงใช้เป็นรางวัลแก่ทหารผู้ชนะการรับ และในพิธีกรรมต่าง ๆ อีกด้วย
การแพร่หลายของ ‘ช็อกโกแลต’
ในปี ค.ศ. 1519 เฮอร์นันโด คอร์เตส นักสำรวจที่กำลังทำการล่าอาณานิคมชาวสเปน ได้เดินทางไปยังวังของจักรพรรดิมอนเตซูมา ที่นครเตนอชตีลัน (Tenochtitlan) โดยในครั้งนั้น ชาวเมืองและจักรพรรดิต่างเข้าใจผิดว่า คอร์เตสเป็นพระเจ้าผู้มาเยือน จึงให้การต้อนรับดูแลอย่างดี และมีนายทหารของคอร์เตสได้บันทึกไว้ว่า จักรพรรดิมอนเตซูมา ได้นำเครื่องดื่มโกโก้ออกมาจำนวน 50 เหยือก และรินใส่ในถ้วยทองคำเพื่อต้อนรับพวกเขาอีกด้วย ต่อมาหลังเสร็จสิ้นการล่าอาณานิคม คอร์เตสจึงเดินทางกลับสเปนพร้อมกับเมล็ดโกโก้นั่นเองค่ะ
ในช่วงแรก ช็อกโกแลตที่ทำออกมามีรสชาติขม และถูกนำไปใช้เป็นยารักษาโรค ต่อมาจึงเริ่มปรุงแต่งให้มีรสชาติหวานขึ้น โดยการผสมน้ำผึ้ง น้ำตาล หรือวนิลาลงไป ทำให้ช็อกโกแลตกลายเป็นอาหารยอดนิยมในราชสำนักสเปนอย่างรวดเร็ว และผู้คนก็เริ่มทำการเพาะปลูกมากขึ้น
จุดเปลี่ยนของ ‘ช็อกโกแลต’
ความเปลี่ยนแปลงของช็อกโกแลต เกิดขึ้นเมื่อปี ด.ศ. 1828 เมื่อ ‘คอนราด แวน เฮาเทน’ แห่งอัมสเตอร์ดัม ได้นำเครื่องบดโกโก้มาใช้ ซึ่งเจ้าเครื่องบดนี้สามารถแยกน้ำมันโกโก้ธรรมชาติออก ทำให้เหลือเพียงผงโกโก้ ที่สามารถนำมาผสมเป็นเครื่องดื่มได้ หรือนำมาผสมกับสารไขมันที่ได้จากเมล็ดโกโก้ เพื่อทำเป็น ‘ช็อกโกแลตแบบแท่ง’ เหมือนในสมัยปัจจุบัน
ต่อมา เมื่อช่างทำช็อกโกแลตชาวสวิสเซอร์แลนด์ ‘แดเนียล ปีเตอร์’ ได้ทำการเติมนมผงลงไปในช็อกโกแลต ทำให้เกิดช็อกโกแลตนม หรือ Milk Chocolate รสชาติหวานละมุนที่เรารู้จักขึ้น
จนกระทั่งในศตวรรษที่ 20 ช็อกโกแลตจึงหลายมาเป็นของหวานสำหรับคนทั่วไป และมีการเพาะปลูกโกโก้เป็นจำนวนมาก แต่น่าเสียดายที่โกโก้จะสามารถปลูกได้เฉพาะพื้นที่ใกล้เส้นศูนย์สูตรเท่านั้น
ใน ค.ศ. 2015 ประเทศโกต์ดิวัวร์ สามารถผลิตโกโก้ได้สองในห้าของผลผลิตโกโก้ทั่วโลก และในปัจจุบันนี้เรื่องที่น่ายินดีของเราก็คือ ประเทศไทยเริ่มทำการเพาะปลูก และผลิตโกโก้เองแล้ว การันตีคุณภาพได้จากรางวัลระดับโลกเลยทีเดียวค่ะ
แน่นอนว่า หลาย ๆ คนคงหลงใหลในรสชาติของเจ้าช็อกโกแลตที่แสนอร่อยนี้ แต่อย่าลืมนะคะ ว่าต้องควบคุมปริมาณในการรับประทานด้วย เพื่อไม่ให้ร่างกายได้รับแคลอรี่ และไขมันเกินความต้องการนั่นเอง อร่อยได้ แต่ต้องมีวินัยด้วยนะคะ ด้วยรักและห่วงใยค่า : )