อาหารที่เรารับประทานกันอยู่ในชีวิตประจำวัน อาจจะไม่ได้เหมาะกับทุกคน โดยเฉพาะกับผู้ที่มีอาการแพ้ หรือเกิดความผิดปกติขึ้นหลังจากรับประทานไปแล้ว ซึ่งชื่ออาการที่หลายคนอาจจะคุ้นหูกันก็คือ ‘การแพ้อาหาร’ (Food allergy) และภูมิแพ้อาหารแฝง (Food intolerances)
แม้ชื่อของทั้งสองอาการนี้จะคล้ายกัน แต่จริง ๆ แล้วการแพ้อาหาร และภูมิแพ้อาหารแฝงนั้นไม่เหมือนกันเลยล่ะ
การแพ้อาหาร (Food allergy)
การแพ้อาหาร เป็นการแสดงออกของร่างกาย หลังจากได้รับสิ่งเร้า หรืออาหารที่ร่างกายแพ้ สาเหตุมาจากความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกันร่างกายชนิด Immunoglobin-E (IgE) โดยส่วนใหญ่แล้วจะมีอาการแพ้แบบเฉียบพลัน หลังจากได้รับอาหารภายใน 2 ชั่วโมง ซึ่งถ้าหากมีอาการจากหลายระบบร่วมกันทั่วร่างกาย อาจมีความเสี่ยงรุนแรงถึงขั้นช็อก หมดสติ และเสียชีวิตได้
อาการที่พบได้บ่อย
- ระบบผิวหนัง เช่น ลมพิษชนิดเฉียบพลัน หรือเรื้อรัง ผื่นผิวหนังอักเสบ อาการบวมรอบปากหรือดวงตา
- ระบบหายใจ เช่น อาการจมูกอักเสบ หลอดลมอักเสบ อาการบวมบริเวณกล่องเสียงและหลอดลม หรือหืด (เหนื่อย แน่นหน้าอก หายใจมีเสียงวี๊ด)
- ระบบทางเดินอาหาร เช่น อาการคันปาก คันคอ คันลิ้น ปวดท้อง อาเจียน ถ่ายมีเลือดปน หรือลำไส้อักเสบ
- ระบบหัวใจ เช่น ความดันโลหิตต่ำ ช็อก
อาหารที่มีความเสี่ยง
อาหารที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดอาการแพ้อาหาร คือ อาหารกลุ่มโปรตีน โดยอาหารที่อาจทำให้เกิดอาการแพ้ในเด็กจะพบมากในนมและผลิตภัณฑ์จากนม, ไข่และผลิตภัณฑ์จากไข่, กลูเตนในธัญพืช และถั่วบางชนิด ส่วนอาหารที่อาจทำให้เกิดอาการแพ้ในผู้ใหญ่จะพบมากใน กลุ่มอาหารทะเลจำพวกสัตว์เปลือกแข็ง รวมถึงถั่วและผลิตภัณฑ์จากถั่วบางชนิด โดยเฉพาะถั่วเปลือกแข็ง ถั่วลิสง และถั่วเหลือง
ภูมิแพ้อาหารแฝง (Food intolerances)
ภูมิแพ้อาหารแฝง เกิดจากการรับประทานอาหารชนิดเดิมซ้ำ ๆ เป็นเวลานาน จนระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายเข้าใจว่าอาหารนั้น ๆ เป็นสิ่งแปลกปลอม จนไปทำลายเนื้อเยื่อและทำให้การทำงานของอวัยวะนั้นเสียสมดุล และมีผลเป็นอาการของโรคเรื้อรังต่าง ๆ โดยส่วนใหญ่แล้วจะมีอาการหลังได้รับอาหารภายใน 2 สัปดาห์
อาการที่แสดงออกมาจะไม่ได้มีความรุนแรงมาก แต่จะมีลักษณะเรื้อรัง และแตกต่างกันไปในแต่ละคน ดังตัวอย่างอาการด้านล่าง
- ท้องอืด ท้องผูก ท้องเฟ้อ จุกเสียดแน่นท้อง
- ปวดท้อง ท้องเสีย ลำไส้แปรปรวนหรือระคายเคือง
- ปวดศีรษะเรื้อรัง ไมเกรน
- คัดจมูก น้ำมูกไหลเรื้อรัง
- สิวเรื้อรัง ผื่นลมพิษเรื้อรังไม่ทราบสาเหตุ
- ขอบตาดำหรือมีถุงใต้ตา
- ปวดกล้ามเนื้อ
- น้ำหนักขึ้นง่าย
ตัวอย่างอาการแพ้ อย่างการ “แพ้นม” ที่เกิดจากการที่ร่างกายของเราย่อยน้ำตาลแลคโตสไม่ได้และส่งผลให้มีอาการท้องเสีย มีทางแก้คือ ต้องดื่มนมที่ปราศจากน้ำตาลแลคโตส เป็นต้น
ดังนั้น เราควรหมั่นตรวจเช็กสุขภาพ และสังเกตตนเองว่ามีอาหารต้องห้ามที่ไม่ควรรับประทานหรือไม่ เพื่อจะได้เตรียมตัวรับมือ และระมัดระวังไม่ให้เกิดการแพ้อาหาร และภูมิแพ้อาหารแฝงขึ้นโดยที่ไม่ทันได้ตั้งตัว
https://www.food.gov.uk/safety-hygiene/food-allergy-and-intolerance