หลายคนคงคุ้นเคยกับความหวาน หอม มัน ของ ‘เนย’ และ ‘มาการีน’ สีเหลืองนวล เพราะเนยและมาการีน จัดเป็นวัตถุดิบชนิดหนึ่งที่มักจะถูกนำมาประกอบอาหาร โดยเฉพาะบรรดาขนมหวานสีสันสดใสชวนรับประทานนั่นเอง แต่มีความจริงที่หลายคนอาจจะไม่ทราบ คือ เนยและมาการีน มีความแตกต่างกันเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในเรื่องของการส่งผลต่อสุขภาพของเรา
ทำความรู้จัก ‘เนย’
เนย เป็นผลผลิตที่ได้จากการปั่นครีม หรือนม จนเกิดการแยกชั้นเป็นของแข็ง และของเหลว นั่นก็คือเนย และบัตเตอร์มิลค์ตามลำดับ ซึ่งทั้งสองอย่างสามารถนำมาใช้ทำอาหารได้ แต่ไขมันที่ได้จะเป็น ‘ไขมันอิ่มตัว’ ซึ่งเป็นไขมันชนิดเดียวกับไขมันสัตว์ โดยจะส่งผลต่อการเพิ่มปริมาณของ Low density lipoprotein (LDL) หรือคอเลสเตอรอลแบบเลวนั่นเอง
ทำความรู้จัก ‘มาการีน’
มาการีน หรือเนยเทียม เป็นวัตถุดิบที่ผลิตออกมาเพื่อทดแทนเนย ทำมาจากน้ำมันพืช เช่น น้ำมันคาโนล่า น้ำมันปาล์ม หรือน้ำมันถั่วเหลือง เป็นต้น ดังนั้น ไขมันที่ได้จากมาการีนจึงเป็นไขมันจากพืช ซึ่งเป็น ‘ไขมันไม่อิ่มตัว’
การผลิตมาการีน จะทำโดยใช้กระบวนการ hydrogenation (ไฮโดรจีเนชัน) หรือการเติมก๊าซไฮโดรเจนลงไป ทำให้มาการีนมีไขมันทรานส์ ซึ่งเป็นไขมันที่ส่งผลเสียต่อสุขภาพ เพราะไขมันทรานส์ จะเพิ่มปริมาณของคอเลสเตอรอลแบบเลว หรือ Low density lipoprotein (LDL) พร้อมกับ ลดปริมาณคอเลสเตอรอลแบบดี หรือ High density lipoprotein (HDL) อีกด้วย
อย่างไรก็ตาม มาการีนได้รับการปรับปรุงมาเรื่อย ๆ โดยในปี 2015 ทาง FDA หรือ Food and Drug Administration ของอเมริกา ก็ได้ออกกฎให้ทางผู้ผลิตต้องกำจัดไขมันทรานส์ที่เกิดจากการกระทำของมนุษย์ออกจากผลิตภัณฑ์
ข้อดีของมาการีนที่เหนือกว่าเนย คือ หากมาการีนไม่มีไขมันทรานส์ ก็แทบจะไม่มีคอเลสเตอรอลอยู่เลย ทำให้มาการีนเป็นอีกทางเลือกหนึ่งของผู้ที่ต้องควบคุมปริมาณคอเลสเตอรอล
กล่าวโดยสรุปคือ เราสามารถเลือกทั้งเนยและมาการีนมาใช้ประกอบอาหารได้ เพียงแต่ต้องเลือกสรร และเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่ส่งผลต่อสุขภาพน้อยที่สุด รวมถึงรับประทานในปริมาณที่พอเหมาะ และไม่บ่อยจนเกินไป เพื่อสุขภาพที่ดีของทุกคนค่ะ
อย่าง ‘น้องขนมปัง’ และ ‘น้องเลิฟ’ คีโตเฟรนลี่คนดีคนเดิมของเรา ใช้เนย gourmet ในการเพิ่มความอร่อยหนุบหนับ พร้อมเสิร์ฟให้กับชาวคีโตเจนิก และผู้รักสุขภาพทุกคน รับรองว่าคุณภาพเกินร้อยแน่นอนค่า 🙂
ที่มา :
https://www.medicalnewstoday.com/articles/304283.php
https://www.ahajournals.org/doi/10.1161/CIR.0000000000000510