อาหารรสชาติจืด ๆ ที่ถูกปรุงรสหรือถูกเติมเต็มด้วย ‘น้ำตาล’ จนมีรสชาติหวานฉ่ำ ทั้งของคาวอย่าง ก๋วยเตี๋ยว หรือผัดไท และของหวานอย่าง เค้ก หรือเฉาก๊วย คงจะเป็นของโปรดของใครหลายคน บางคนอาจจะชอบแบบบหวานน้อย บางคนอาจจะชอบแบบหวานมาก แต่ชีวิตก็ขาดหวานไม่ได้เลยสักทีใช่ไหมล่ะ?
หากพูดถึงเรื่องของน้ำตาล ก็คงจะต้องนึกถึง ‘อินซูลิน’ เพราะสองสิ่งนี้มีความสัมพันธ์กันอย่างลึกซึ้งเลยทีเดียว
‘อินซูลิน’ เป็นฮอร์โมนชนิดหนึ่ง ถูกสร้างขึ้นที่ตับอ่อน ช่วยในการควบคุมและปรับระดับของน้ำตาลในเลือดของเราไม่ให้สูงจนเกินไป พร้อมทั้งเปลี่ยนน้ำตาลให้กลายไปเป็นพลังงานต่อไปได้
อินซูลินจะเริ่มต้นการทำงานและเดินทางออกมาจากตับอ่อน จากการที่ร่างกายของเราได้รับน้ำตาลมากเกินไป โดยเฉพาะจากอาหารจำพวก High Glycemic Index หรืออาหารจำพวกคาร์โบไฮเดรตที่ร่างกายสามารถย่อยและดูดซึมได้อย่างรวดเร็ว เช่น ข้าวสวย ขนมปังขาว ที่เราคุ้นเคยรสชาติกันเป็นอย่างดี
อินซูลิน x น้ำตาล
จากที่กล่าวไปข้างต้นว่าอินซูลินจะถูกหลั่งออกมา เมื่อร่างกายได้รับน้ำตาลนั้น หากเรารับประทานอาหารจำพวก High Glycemic Index เข้าไปมาก ๆ ก็จะทำให้ร่างกายหลั่งอินซูลินออกมาจำนวนมากขึ้น จากนั้นร่างกายก็จะมีความไวต่ออินซูลินลดลง ส่งผลให้เซลล์กล้ามเนื้อและไขมันในร่างกายของเราต้องการอินซูลินมากขึ้น จนเป็นสาเหตุของการเกิด ‘ภาวะดื้ออินซูลิน’ กล่าวให้เข้าใจโดยง่าย คือ อินซูลินมีประสิทธิภาพน้อยลง เพราะแม้จะถูกหลั่งออกมาเป็นจำนวนมาก แต่กลับทำงานได้น้อยลง และนี่ก็เป็นที่มาของ ‘ภาวะเมแทบอลิกซินโดรม’ หรือภาวะการเผาผลาญของร่างกายที่ผิดปกตินั่นเอง
ภาวะเมแทบอลิกซินโดรม
ภาวะเมแทบอลิกซินโดรม ก่อให้เกิดปัญหาด้านสุขภาพหลาย ๆ ด้านตามมา ทั้งความดันโลหิตสูง น้ำตาลในเลือดสูง เบาหวาน เส้นรอบเอว และไขมันสูง ซึ่งภาวะเหล่านี้จะส่งผลโดยตรงกับหลอดเลือดและหัวใจ ทำให้เกิดภาวะหัวใจขาดเลือด อัมพฤกษ์ อัมพาตได้ในที่สุด
ภาวะนี้ มักพบในผู้ป่วยที่มีไขมันในช่องท้องมาก หรือบุคคลที่อ้วนลงพุง (Central Obesity) ไขมันเหล่านี้จะทำให้เกิดปฏิกิริยาการอักเสบ ทำให้ฮอร์โมนทำงานผิดปกติ ซึ่งรวมไปถึงการออกฤทธิ์ที่ผิดปกติของฮอร์โมนอินซูลิน อันเป็นที่มาของปัญหาสุขภาพที่กล่าวไปข้างต้น
ดังนั้น เราจึงควรรู้จักเลือกรับประทาน และควบคุมอาหารต่าง ๆ อย่างมีวินัย เพื่อสุขภาพที่ดีของเราในระยะยาว
ที่มา : http://www.glycemicindex.com/faqsList.php
https://ed.ted.com/lessons/how-do-carbohydrates-impact-your-health-richard-j-wood
https://dancingwithabaker.com/02/2020/sugar-affects-your-skin/